ที่เราได้มีโอกาสไปนี่ ไม่ใช่เพราะเราตรัสรู้เอง แต่เพราะ หลานสาวที่ไปเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ถามเราด้วยคำถามที่จั่วหัวไว้นั่นแหละ แล้วเราก็ตอบไปด้วยเสียงอันดังฟังชัด แถมผิดเหมือนคนอื่นเช่นกัน เราจึงมีโอกาสได้เปิดโลกอันคับแคบของเรา ให้ได้รับรู้ในอีกแง่มุมนึงของเชียงราย
ไร่แม่ฟ้าหลวง หรือชื่อเต็มๆ คือ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง สำหรับเราถือว่าที่นี่ตั้งอยู่น่าจะกลางตัวเมืองเชียงรายเลยนะ เพราะบริเวณโดยรอบเป็นบ้านเรือนผู้คน ไม่น่าจะมีไร่ หรืออุทยานอะไรตั้งอยู่ แถมทางเข้าก็เล็กๆ จำได้ว่าอยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑ์อูปคำ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ของเอกชน วันนั้นเราใช้เวลาในการขับรถจากหอนาฬิกาเชียงรายไปเพียงยี่สิบนาทีก็ถึงไร่แม่ฟ้าหลวง
ขอเล่าประวัติย่อๆ เท่าที่กะโหลกเรามันจำได้ คือสถานที่นี้เป็นสถานที่ที่บริหารโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้มูลนิธินี้ มีอีกสี่สถานที่ที่เกี่ยวข้องก็คือ สวนรุกชาติแม่ฟ้าหลวง พระตำหนักดอยตุง สวนแม่ฟ้าหลวง และหอฝิ่น เป็นสถานที่ที่เก็บรวบรวมต้นสัก ไม้สัก และบรรดาข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่หาไม่ได้อีกแล้ว และพันธุ์ไม้อีกหลายชนิด จัดแสดงเอาไว้ และเป็นสถานที่ที่ใช้สำหรับจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ชอบเที่ยวในสถานที่ที่สงบ แล้วได้ความรู้ติดกะโหลกกลับมา และยังได้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ และความอุดมสมบูรณ์ของบรรพบุรุษของเรา ยิ่งไม้สักนะ ขอบอกเลยว่า ไม่รู้ว่าคณะผู้สร้างไปเก็บรวบรวมสิ่งปลูกสร้างจากไม้สักเหล่านี้มาจากไหน เพราะแต่ละชิ้นใหญ่แบบหลายคนโอบ เสาแต่ละต้นใหญ่มาก มากจนเราขอบรรยายด้วยภาพจะดีกว่า อ้อ...ค่าเข้าชม หรือค่าบำรุงสถานที่ คนละหนึ่งร้อยบาท ถูกมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่จัดแสดงอยู่ด้านใน
จากประตูเล็กๆ เข้ามาแล้วจ่ายเงินค่าเข้าชมให้เจ้าหน้าที่ ก็จะเห็นภาพนี้ รอต้อนรับ
ระหว่างทางจะเห็นต้นลีลาวดีนับร้อยต้น ยื่นต้นเด่น ทักทายผู้มาเยือน ประหนึ่งแถวขบวนต้อนรับ
เสียดายที่ตอนที่เราไปดอกบานล่วงหล่นไปหมดแล้ว จึงได้เห็นภาพกิ่งก้าน คล้ายกัลปังหาซะมากกว่า แต่ก็สวยไปอีกแบบ
เข้าไปข้างในกันดีกว่า ตามเรามาเลยก่ะเจ้า ที่นี่มีจุดที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ ได้แก่ หอแก้ว ศาลาแก้ว หอคำ และหอคำน้อย งั้นเราเดินไปที่หอแก้วก่อนเลย
หอแก้วเป็นอาคารเอาไว้จัดแสดงคุณประโยชน์ของไม้สัก และความผูกพันของชาวล้านนาที่มีต่อไม้สัก เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ที่ทำจากไม้สักไว้นานาชนิด บางชนิดก็เคยเห็น บางชนิดก็ไม่เคยเห็น เช่น ชิ้นนี้ กระดานซักผ้า แกะจากต้นไม้ทั้งต้น มีที่นั่งเป็นตัวกบ
และอีกชิ้น รางข้าวหมู ยาวประมาณสองเมตรกว่า ยาวกว่าตัวเราอีก ขุด และแกะเป็นตัวจรเข้ด้วยนะนั่น
แต่เราชอบอันนี้ อ่านดูสิ สี่ดาวโจรปล้นสวาท สาวไปขายของตลาด พยายามดูหลายรอบแล้ว นับยังงัยก็ได้แค่สามดาวโจรปล้นสวาท แถมโดนสาวไปขายของตลาดต่อยให้อีก แอบฮานะ.....คุณบรรพบุรุษ
อันนี้โลงศพนะ แต่เป็นโลงที่คุณลุงคนนึงทำเพื่อคนรัก ความรักของลุงแกช่างยิ่งใหญ่ และอลังการงานสร้างมาก ลูกหลานคนนี้ขอน้อมคารวะ
อันนี้เรียกว่า "อูป" เอาไว้ใส่อะไรหว่า....อืม...ไม่รู้แฮะ รู้แต่ฝีมือช่างแกะละเอียด และงดงามมาก
เดินชมหอแก้วจนทั่วแล้ว พอเดินออกมาตรงทางออกประตู ก็เจอกับโอ่งน้ำใบน้อย ห้อยกระจ่าเอาไว้ตักน้ำดื่ม นั่งดูแล้วให้นึกถึงตอนเด็กๆ หน้าบ้านเราก็มีแบบนี้ตั้งไว้ รอให้คนที่เดินผ่านไปมา แวะดื่มน้ำเย็นๆ ซึ่งไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมน้ำมันเย็นได้ ทั้งๆ ที่ตั้งอยู่หน้าบ้าน สิ่งนี้มันคือสิ่งสะท้อนว่า คนยุคเก่าก่อนมีน้ำใจที่ไม่ใช่แค่เก็บซ่อนไว้ในใจเท่านั้น แต่ล้นออกมานอกใจ จนออกมากองอยู่ในตุ่มน้อยหน้าบ้าน เมื่อกาลเวลาผ่านไป สิ่งที่ดีๆ แบบนี้ทำไมมันหายไปจากสังคมเราได้นะ...ว่ามั๊ย
ถัดจากหอแก้วออกมาก็จะเจอกับศาลาแก้ว เป็นศาลาริมน้ำ ที่แวดล้อมด้วยน้ำ ฟ้าเป็นฟ้า สนามหญ้าเขียว สวย สงบ และร่มรื่นมาก สามารถติดต่อขอจัดนิทรรศการได้ สนนราคาค่าบริการก็ติดต่อเอาเอง สังเกตุเสาแต่ละต้นนะ ที่เห็นนั่น เสาไม้สักนะคะ ไม่ใช่ปูน เราอ่ะโอบไม่รอบ ต้นนึงน่าจะต้องมีสองหรือสามคนโอบแน่นอน
ตอกย้ำกันด้วยรูปนี้ ถึงความยิ่งใหญ่ และความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าของไทย
ซัดอีกภาพ แค่เสายังยิ่งใหญ่ขนาดนี้
นั่งหลับตานิ่งๆ ที่ศาลานี้ จะได้ยินเสียงนก เสียงน้ำ และเสียงลมพัดแผ่ว ซึ่งความสงบนิ่งนี้ น่าจะถูกถ่ายทอดออกมาจากเสาไม้ใหญ่ที่รายรอบตัวเราอยู่นี่แหละ พอแล้วหลับตาพอแล้ว นานกว่านี้หลับแน่ ออกเดินต่อดีกว่า เดินผ่านสวนร่มรื่นตลอดสองข้างทาง ชอบอีกอย่างคือ ต้นไม้แต่ละต้น จะมีป้ายบอกชื่อต้นไม้ไว้ด้วย เผื่อไปเจอที่อื่นจะได้รู้จักงัย จากทางเดินนี้ เราจะไปที่หอคำ และหอคำน้อย
ระหว่างทางเดินไป จะผ่านหอคำน้อยก่อน หอคำน้อย เป็นอาคารศิลาแลง มีหลังคาเป็นเกล็ดไม้สัก เป็นที่เก็บของภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนบนไม้สัก สมัยรัชกาลที่ห้าด้วยนะ แต่ด้วยความเก่าแก่ ทำให้ภาพมีอันทรุดโทรมไปมาก จึงไม่สามารถเปิดให้เข้าชมได้ เสียดายมาก จึงได้แต่เก็บรูปข้างนอกมาให้ดู
ถัดจากหอคำน้อย จะเป็นหอคำ ที่นี่ก่อนจะเข้าชมต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อให้น้องเจ้าหน้าที่เค้าพาเข้าชม บรรดาสิ่งของที่ประดับ หรือเก็บเรียงรายอยู่ในหอคำ เป็นสิ่งสูงค่ามาก มากจนไม่สามารถประเมินค่าได้ จึงห้ามถ่ายรูปเด็ดขาด แต่เดี๋ยวรอดูนะ เราแอบถ่ายมา จุ๊..จุ๊..ห้ามบอกใครนะ รู้กันสองคน
แต่ช้าก่อน....ก่อนที่จะเข้าไปในหอคำ ต้องเจอพนักงานต้อนรับกิตติมศักดิ์ฝูงนี้ก่อนเลย ตอนแรกนึกว่าจะมาไล่ เห็นร้องกับ..กับ..กับ ที่ไหนได้ มาขออาหารปลากิน เดินมาเป็นแถวเลยนะ เสียชาติเป็ดกันไปเลย
ถ้ามันพูดได้ หรือเราฟังมันรู้เรื่อง มันคงกำลังบอกว่า "เชิญเลยก๊าบ เชิญทางนี้ก๊าบ ก่อนเข้าชมหอคำ ต้องจ่ายค่าเข้าชมเป็นอาหารปลาสองถุงก่อนน่ะก๊าบ" พอเห็นเราควักตังค์จ่ายค่าอาหารปลา เจ้าหน้าที่เป็ดตัวนี้ ก็จะส่งเสียงเรียกพวกของเค้ามาห้อมล้อมต้อนรับ...แบบนี้เลย......
เดินชมภายในหอคำที่จัดเรียงรายสิ่งของสูงค่า อันได้แก่ ศิลปะวัตถุ และงานที่เป็นพุทธศิลป์หลายชิ้นมาก พร้อมซึมซับบรรยกาศขรึมขลังจากแสงจากเทียนโดยรอบ พร้อมคำบรรยายเจื้อยแจ้ว เป็นสำเนียงคนเหนือเสนาะหู ก็ออกมาเดินภายนอก จะเห็นสิ่งของที่ทำจากไม้ชิ้นใหญ่ๆ มากมาย เรียงรายอยู่โดยรอบอาคาร เช่น อันนี้ กลองใหญ่
เก้าอี้ใหญ่ ยาวเกือบสามเมตร
ตั่ง หรือที่นอนขนาดคิงส์ไซส์ ทำจากไม้แผ่นเดียว ไม่มีรอยต่อ นึกภาพความใหญ่ของต้นไม้ต้นนั้นไม่ออกจริงๆ
กับภาพนี้ พระพร้าโต้ พระพุทธรูปเก่าแก่ บนแท่นบูชา ที่เจ้าหน้าที่บรรยาว่าเปรียบเสมือนยอดเขาพระสุเมรุ ภาพอาจจะไม่ชัด เพราะเอามือมุดเข้าไปในซอกไม้แอบถ่ายออกมา ไม่รู้ทำไปทำไม แต่ทำไปแล้ว แถมถ่ายมาซะเบลอด้วยนะ จะลบทิ้งก็เสียดาย แล้วฐานด้านล่างเป็นทราย และเป็นทรายที่ขนมาจากเกาะเสม็ดด้วยนะนั่น
และจากมุมอื่นๆ ของหอคำ หอที่สร้างตามลักษณะเรือนล้านนาโบราณ เจ้าหน้าที่บอกว่า ใช้ไม้จากบ้านเก่าของชาวเชียงรายจำนวน 32 หลัง และไม้จากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เอามาสร้างเป็นหอคำหลังนี้หลังเดียว ต้องไปดูด้วยตา แค่เห็นเสาไม้ห้าหกคนโอบ แค่นี้ก็คุ้มแล้ว
อีกมุม มุมนี้เข้าท่า ฟ้ากับหลังคาเกล็ดไม้สักทั้งหลัง หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว
กุ๋งกิ๋งเสียงดังกังวานแว่ว แหงนหน้าตามหาเสียง เจอแล้ว กังสะดานล้านนา
ตอนเดินกลับมาทางเดิม ขอให้ทุกท่านแวะกราบ หรือที่ชาวล้านนาเรียกว่า "ไหว้สาแม่ฟ้าหลวง" รูปปั้นสมเด็จย่าท่ามกลางสวนสวยสงบร่มเย็น ไม่รู้ว่ารูปที่ถ่ายมาหายไปไหน ไม่เป็นไรเนอะ คราวหน้ากลับไปถ่ายมาให้ดูใหม่ก็ได้
ก่อนกลับเราแวะชิมกาแฟสดจากแหล่งเดียวกับดอยตุงที่จุดบริการนักท่องเที่ยว กับบรรยากาศที่ยังคงสงบเงียบอีกเช่นเคย
เรานั่งคุยกับคุณน้องเจ้าหน้าที่ สอบถามถึงปริมาณนักท่องเที่ยวที่มา ได้คำตอบว่าที่นี่นักท่องเที่ยวจะมาน้อย เมื่อเทียบกับอีกสี่ที่ที่บอกไป ถามต่อไปว่าเพราะอะไรคนถึงไม่ค่อยมาที่นี่ คำตอบที่ได้คือ คนไม่ค่อยชอบมาเที่ยวสถานที่ที่ให้ความรู้ เพราะคิดว่ามันน่าเบื่อ แล้วคิดว่าคงจะไม่มีอะไร แต่จะชอบไปที่ที่จัดตกแต่งไว้สวยๆ เอาไว้ถ่ายรูปกลับไปอวดกันแค่นั้น
กับคำตอบที่ได้ มันช่างดีกับความรู้สึกของเราจริงๆ ดีสิ คนน้อยๆ แบบนี้ ความสวยงามจะได้ไม่โดนทำลาย มาเมื่อไหร่ก็ไม่ต้องไปแย่งมุมถ่ายรูปกับใคร ได้มีโอกาสสัมผัสแง่งามของสถานที่ ที่ถูกจัดแต่งไว้อย่างลงตัว มีเวลาได้สัมผัสความสงบขรึมของเสาสักแต่ละต้น ได้กลิ่นไอความมานะบากบั่นของกลุ่มคนที่ทุ่มเทสะสมสิ่งสูงค่าเพื่อมอบแด่บุคคลที่มากกว่าคำว่าสูงค่า แบบแม่ฟ้าหลวงของเรา เราแอบสัญญาในใจเลยว่า จะมาที่นี่อีก เพราะยังมีอีกหลายมุมเหลือเกิน ที่เรายังไม่ได้เดินเข้าไปมองด้วยตา หรือเพียงสัมผัสด้วยใจ...ด้วยซ้ำ
อีกหนึ่งความทรงจำ ที่จะจำไว้ไม่รู้ลืม "ไร่แม่ฟ้าหลวง"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น